วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2561

การจัดการเรียนรู้โดยใช้การ์ตูน (Cartoon)



ความหมาย
            สังเกต นาคไพจิตร (2530: 4) อธิบายว่า การ์ตูน คือภาพวาดภาพที่บอกเรื่องราว การ์ตูนอาจให้ความบันเทิง สอน หรือให้ความเห็นเกี่ยวกันบุคคลเหตุการณ์หรือเรื่องทั่วไป ซึ่งการ์ตูนส่วนใหญ่ประกอบด้วยคำและรูปภาพ แต่บางทีก็ใช้ภาพวาดบอกเรื่องราวเพียงอย่างเดียว และการ์ตูน เป็นภาพที่เขียนขึ้นในลักษณะต่างๆที่ผิดเพี้ยนไปจากความจริง เขียนเพื่อเน้นลักษณะหนึ่ง เป็นวรรณกรรมประเภทที่ถ่ายทอดความรู้สึกด้วยรูปภาพ

ทฤษฎี/แนวคิด
            สังเกต นาคไพจิตร (2530: 4) อธิบายว่า การ์ตูนเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ใช้เป็นเครื่องเร้าความสนใจ กระตุนให้เรียนในห้องเรียนได้เป็นอย่างดี ซึ่งการ์ตูนใช้อธิบายให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจจากการใช้ภาพการ์ตูนง่ายๆอธิบายในสิ่งที่จะเรียนรู้จะทำให้นักศึกษาเข้าใจดียิ่งขึ้น ซึ่งในการใช้การ์ตูนประกอบกิจกรรมการเรียนจะช่วยสร้างเสริมให้นักเรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์ ช่วยให้ผู้เรียนเรียนอย่างสนุกสนานเพราะการ์ตูนมีลักษณะเฉพาะตัวเอง ให้อารมณ์ขันแก่ผู้ดู และช่วยสร้างเสริมพฤติกรรมที่พึงประสงค์แก่ผู้เรียน เพราะเด็กจะเรียนแบบตัวการ์ตูนที่ตนชอบ ซึ่งผู้สอนสามารถนำการ์ตูนไปใช้ได้ทุกกลุ่มวิชา ใช้ในการเรียนการสอนรายบุคคลได้อย่างดี นอกจากนี้แล้วหนังสือการ์ตูนสามารถที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดีโดยใช้เป็นหนังสือเสริมประสบการณ์เพื่อสร้างเสริมนิสัยรักการอ่าน และใช้เป็นหนังสือเพิ่มเติมหรือประกอบการเรียนการสอนในวิชาต่างๆหนังสือภาพการ์ตูนนั้นได้รับการเลื่อนสถานะจกหนังสือ เพื่อเพิ่มความบันเทิงมาสู่การเป็นหนังสือที่เป็นสื่อให้ความรู้โดยตรงนั่นคือ หนังสือภาพการ์ตูนสามารถให้ความรู้วิชาต่างๆ อาทิเช่น ในวิชาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติวิทยา การอนุรักษ์สิงแวดล้อม ประวัติศาสตร์ ชีวประวัติ สุขศึกษา วัฒนธรรมประเพณี วรรณกรรม เป็นต้นวิชาเหล่านี้สามารถจะนำเนื้อหาจัดเป็นหน่วยๆมาจัดทำเป็นภาพการ์ตูน ซึ่งจะทำให้เด็กผู้อ่าน ได้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลินชวนอ่าน รวมทั้งใช้เป็นหนังสือเรียนในการเรียนรายวิชาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี


แนวทางการจัดการเรียนรู้
ทิศนา แขมมณี (2554: 104) อธิบายว่า หนังสือภาพการ์ตูนจัดเป็นหนังสือสำหรับเด็กประเภทหนึ่ง  ที่มีลักษณะใช้ภาพแสดงเรื่องราวแทนการใช้ตัวหนังสือดำเนินเรื่องเหมือนหนังสือเด็กทั่วไป  หนังสือการ์ตูนจะต้องมีเรื่องราวและภาพมีการดำเนินเรื่องของตัวละครเพื่อดึงดูดใจให้ผู้อ่านติดตามเรื่อง ดังนั้นการเขียนเรื่องสำหรับหนังสือการ์ตูนจึงเป็นเรื่องสำคัญการเขียนเรื่องเพื่อใช้เป็นหนังสือภาพการ์ตูนจะต้องมีกระบวนการเขียน  ซึ่งประกอบด้วยการเลือกแนวคิดหรือแก่นเรื่อง (theme) การวางโครงเรื่อง (plot) การดำเนินเรื่องราวไปตามโครงเรื่องโดยให้มีเหตุการณ์ซึ่งประกอบไปด้วยตัวละคร ฉาก สถานที่และเหตุการณ์ที่เกิดจากตัวละครต่างๆตั้งแต่ตอนต้นเรื่อง ตอนกลาง ไปจนจบเรื่องในตอนท้าย ขั้นตอนการเขียนมีดังนี้
1.  ขั้นวางแผน ประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้
1.1   ศึกษาและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องราวที่จะเขียนในเรื่องต่างๆ  เช่น  ลักษณะและประเภทการ์ตูน  กลุ่มผู้อ่าน  ความรู้และคุณธรรม
        ที่แทรกเข้าไป
1.2   กำหนดจุดประสงค์ว่า  จะเขียนเรื่องในรูปแบบใด  เช่น นิทาน นิยาม  เป็นต้น  จะเน้นให้ความบันเทิงหรือให้สาระความรู้  หรือให้
        คติสอนใจ
1.3   วางแนวคิดหรือแก่นเรื่อง (theme) อย่างชัดเจนเพียงเรื่องเดียว
1.4   สร้างโครงเรื่อง (plot) โดยเลือกจุดที่เร้าใจหรือเลือกเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นหากกลุ่มผู้อ่านเป็นเด็ก  เรื่องที่แต่งจะต้องเป็นเรื่อง
        ของเด็กหรือแสร้งทำเป็นเรื่องของเด็ก
1.5   เขียนโครงเรื่องโดยย่อ
1.6   กำหนดต้นเรื่อง  การดำเนินเรื่องและตอนจบอย่างละเอียด
1.7   สร้างอุปนิสัยตัวละครให้ชัดเจน  โดยเฉพาะตัวเอก  เช่น  กำหนดอายุ  รูปร่าง  อุปนิสัยเป็นต้น
1.8   สร้างรายละเอียด ฉาก  บ้าน  สถานที่  บริเวณที่เรื่องราวเกิดขึ้น  รายละเอียดเกี่ยวกับระยะเวลาให้ถูกต้อง  รวมทั้งชุดที่ตัว
        ละครแต่ง 
1.9   ทบทวนและทำการแก้ไขโครงเรื่องให้สนุกเป็นที่สนใจกับเด็ก  แก่นของเรื่องที่แทรกมีความชัดเจน  ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้  
        โดยดูไม่เป็นคำสั่งสอนจนเกินไป  เรื่องราวและเหตุการณ์มีการเคลื่อนไหวที่กลมกลืนกันและสมเหตุสมผล
1.10   กำหนดความยาวและจำนวนหน้าของหนังสือ
2.  ขั้นการเขียนเรื่อง  ประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้
2.1   ลงมือเขียนเรื่องอย่างละเอียดตามขั้นตอนแรก
2.2   ทบทวนส่วนต่างๆที่เขียนให้มีความเหมาะสม  ชื่อเรื่อง  เนื้อเรื่อง  แนวคิดภาษาที่ใช้  รายละเอียดต่างๆ  ต้องมีความสอดคล้อง
        สัมพันธ์กัน
3.  ขั้นการเขียนภาพการ์ตูน  ในขั้นนี้ผู้เขียนเรื่องอาจส่งเรื่องไปให้แก่นักวาดภาพหรืออาจปฏิบัติเองตามขั้นตอน
3.1   เขียนเรื่องใหม่อีกครั้งหนึ่ง  แบ่งเนื้อเรื่องออกเป็นหน้าๆ  ให้ครบตามจำนวนหน้าที่กำหนดไว้
3.2   เขียนเนื้อเรื่องในแต่ละหน้าให้เป็นบทสคริปท์  โดยมีทั้งบทบรรยายและบทสนทนา
3.3   กำหนดความยาวของสคริปท์เรื่องในหนึ่งหน้าออกเป็นส่วนๆ หรือเป็นกรอบ เพื่อจะได้กำหนดจำนวนกรอบภาพทั้งหมดภายใน
        หนึ่งหน้า  เขียนและกำหนดกรอบในแต่ละหน้าไปจนครบจำนวนหน้าของเล่ม
3.4   เขียนภาพหยาบๆ เป็นลักษณะของบัตรเรื่อง (storyboard) ควรกำหนดรายละเอียดคำบรรยาย  คำพูดที่ชัดเจน  เพื่อจะได้ไม่
        ผิดพลาดในการวาด
3.5   วาดตามบัตรเรื่องในแต่ละหน้าอย่างละเอียด  กำหนดบริเวณที่ต้องใส่คำพูดหรือคำบรรยาย ในกรอบภาพให้พอดี
3.6   เมื่อวาดเสร็จแล้ว  ใส่ตัวหนังสือลงในภาพ  ตรวจตราการใช้ภาษาให้ถูกต้อง
3.7   กระดาษที่ใช้เขียนเรื่องและวาด  ควรมีขนาดใหญ่กว่าเล่มหนังสือที่จะพิมพ์


คุณค่าของการ์ตูน  

               1.  ช่วยทำให้เกิดความคิด จินตนาการที่ดีและเกิดความคิดสร้างสรรค์
       2.  ช่วยเร้าความสนใจให้ติดตามและเกิดการเรียนรู้ที่ดี
       3.  ช่วยส่งเสริมให้เกิดนิสัยรักการอ่านหนังสือ ทั้งเด็กและบุคคลทั่วไป ซึ่งก่อให้เกิดความรู้ในด้านอื่นๆต่อไป
       4.  ช่วยผ่อนคลายอารมณ์เครียด ช่วยให้เกิดความสนุกสนาน
       5.  ช่วยให้สามารถจดจำสิ่งต่างๆได้ดี โดยใช้รูปภาพการ์ตูนที่มีลักษณะเด่นๆ

        สรุปได้ว่า
               การ์ตูนเป็นสิ่งที่บุคคลทุกเพศ ทุกวัยให้ความสนใจ การ์ตูนเป็นตัวช่วยดึงดูดความสนใจ สร้างความสนใจในการเรียน และเพิ่มแรงจูงใจในการเรียนให้กับนักเรียน ทั้งการ์ตูนยังช่วยให้เด็กชอบและสนใจอ่านหนังสือและช่วยให้เด็กเกิดความคิดที่จะเรียบเรียงเรื่องที่เขาเห็น หรือเรียนรู้ออกมาได้ดี เนื่องจากการ์ตูนสามารถถ่ายทอดความคิดและจินตนาการออกมาเป็นภาพเพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างผู้ส่งและผู้รับได้เป็นอย่างดี

ข้อค้นพบจากการวิจัย
            จากการจัดการเรียนรู้โดยใช้หนังสือการ์ตูนมีข้อค้นพบจากงานวิจัยดังนี้
1.   ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สุนทร  เชยชื่น (2524)  วิจัยโดยสร้างหนังสือการ์ตูนประกอบการเรียน  กลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 พบว่านักเรียนกลุ่มที่เรียนจากหนังสือการ์ตูนประกอบการเรียน  มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่ากลุ่มที่เรียนตามปกติ 
2.   มโนทัศน์ทางจริยธรรม เบญจมาศ สุชาติวุฒิ ( 2535)  วิจัยกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ พบว่า มโนทัศน์ทางจริยกรมของนักเรียนที่เรียนจากหนังสือการ์ตูนสูงกว่านักเรียนที่เรียนจากการสอนปกติ
3.   เจตคติ  และการปฏิบัติเกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาพ  ยุนี พงศ์จตุรวิทย์ (2533) วิจัยกับเด็กวันเรียนที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง  นักเรียนกลุ่มทดลองที่ได้รับการสอนด้วยหนังสือการ์ตูนประกอบมีค่าคะแนนเฉลี่ยด้าน  เจตคติ และการปฏิบัติเกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาพสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับการสอนตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4.   ความสนใจในการเรียน Gesell (1949) วิจัยเกี่ยวกับความสนใจในการอ่านหนังสือภาพของเด็กอายุ 5-16 ปี พบว่า เด็กอายุ 5-6 ปี ชอบดูภาพยนตร์การ์ตูนและมีความพยายามที่จะอ่านการ์ตูนและต้องการให้คนอื่นอ่านให้ฟัง  และเด็กอายุ 7-8 ปี ชอบและมีความสนใจต้องการ  ที่จะอ่านหนังสือการ์ตูนสูงสุดเพราะเริ่มอ่านได้มาก  รวมทั้งเด็กอายุ 9-16 ปี ก็ยังสนใจอ่านหนังสือการ์ตูนอยู่มากและ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 95 สนใจอ่านหนังสือการ์ตูน
5.   การพัฒนาบุคลิกผู้เรียน Pittman (1958) วิจัยศึกษาอิทธิพลของหนังสือการ์ตูนที่มีต่อเด็ก
พบว่า หนังสือการ์ตูนสามารถเปลี่ยนบุคลิกของเด็กให้ดีขึ้นได้อย่างมาก  และนำมาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนแบบรายบุคคลได้อย่างมีประสิทธิ์ภาพ



แหล่งอ้างอิง

ทิศนา แขมมณี. (2554). ศาสตร์การสอนองค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพพิมพ์ครั้งที่ 13. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์
            มหาวิทยาลัย. 
เบญจมาศ สุชาติวุฒิ. (2536). ผลของการใช้หนังสือการ์ตูนประกอบการสอนจริยศึกษาที่มี ต่อมโนทัศน์ทางจริยธรรมของนักเรียนชั้น
            ประถมศึกษาปีที่ 4วิทยานิพนธ์ปริญญาครุศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชา ประถมศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
มานะ ประชากุล. (2556). (https://www.gotoknow.org/posts/59705). [Online] เข้าถึงเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม2561. 
สังเกต นาคไพจิตร. (2530). วารสาร เรื่องการ์ตูน. มหาสารคาม : ปรีดาการพิมพ์. 

สุนทร เชยชื่น. (2524) . การสร้างหนังสือการ์ตูนประกอบการเรียนกลุ่มวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา
            ปีที่ 3วิทยานิพนธ์ ศศ.ม.กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น